ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

พัฒนา EF ครบทุกด้านด้วย “บอร์ดเกม”

วันที่ : 01/04/2024
remove_red_eye อ่านแล้ว : 1,147 คน
share แชร์
พัฒนา EF ครบทุกด้านด้วย “บอร์ดเกม”
 
ก่อนจะไปหาคำตอบว่าบอร์ดเกม (Board Game) ช่วยพัฒนาทักษะ EF ของลูกได้อย่างไร เรามาทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับ EF กันสักเล็กน้อยก่อนดีกว่า
EF หรือ Executive Functions คือ ความสามารถในการทำงานของสมองส่วนหน้าเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ เด็กที่มี EF ดี จะเป็นเด็กที่คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น ทั้งนี้ทักษะ EF ไม่ได้ติดตัวเด็ก ๆ มาตั้งแต่เกิด แต่สามารถสร้างได้ด้วยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งในช่วงวัยที่คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้แก่ทักษะ EF ก็คือ ช่วง 3-6 ปี เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้าพัฒนาได้มากที่สุด และหนึ่งในกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาทักษะ EF ให้กับลูกได้ก็คือ “การเล่นบอร์ดเกม” นั่นเอง
 
บอร์ดเกม หรือ เกมกระดาน เป็นของเล่นที่ต้องเล่นบนกระดานเกมของเกมนั้น ๆ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์การเล่นที่หลากหลาย เช่น ตัวหมาก ลูกเต๋า โมเดลต่าง ๆ ฯลฯ แต่ละบอร์ดเกมจะมีกฎกติกาการเล่นที่ยาก ง่าย และซับซ้อนแตกต่างกันไป มีทั้งแบบเล่นคนเดียว และเล่นเป็นหมู่คณะ ซึ่งปัจจุบันบอร์ดเกมมีการพัฒนาออกมาหลากหลายประเภท ทั้งเกมสำหรับครอบครัว เกมการศึกษา เกมวางแผน เกมแก้ปัญหา เกมเนื้อเรื่อง ฯลฯ 
 
บอร์ดเกมกับการพัฒนาทักษะ EF 
1. ทักษะความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory)
การเล่นบอร์ดเกมจะช่วยให้เด็ก ๆ จดจำกฎกติกาการเล่น การจำตัวหมาก หรือสัญลักษณ์ที่แทนการเล่นของตัวเองและฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการเลือกใช้แนวทางการเล่นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อให้ผลลัพธ์ในเกมเป็นไปตามที่ต้องการ นับเป็นการฝึกสมองในด้านการจดจำข้อมูล จัดระบบ และดึงข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างเหมาะสม

2. ทักษะการยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control)
ทักษะนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักอดทน รอได้ รอเป็น ไม่แซงคิว ไม่หยิบฉวยของผู้อื่นมาเป็นของตน ซึ่งในการเล่นบอร์ดเกม เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้การเล่นเกมตามลำดับก่อนหลัง รู้จักการรอเพื่อสะสมรางวัลจากการทำภารกิจ หรือแลกซื้อรางวัลตามกติกา ซึ่งในหลายครั้ง รางวัลที่หมายตาไว้ก็มักไม่ได้ครอบครอง เพราะผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามมีสิทธิได้รางวัลไปก่อน หรือถ้าอยากได้รางวัลชิ้นนี้ ต้องแลกกับสิ่งที่มีอยู่อย่างไรบ้าง เด็ก ๆ ก็จะฉุกคิดมากขึ้นว่า ควรแลกเพื่อให้ได้มา หรือจะยอมถอยเพื่อรอโอกาสต่อไป 

3. ทักษะการยืดหยุ่นความคิด (Shifting / Cognitive Flexibility)
เพราะสถานการณ์พลิกผันได้ตลอดเวลาในการเล่นบอร์ดเกม ดังนั้น แผนที่เด็ก ๆ คิดไว้ว่าจะเล่นแบบไหน อย่างไร ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ในขณะนั้นอยู่เสมอ เป็นการฝึกให้เด็กได้คิดนอกกรอบ ไม่ยึดติดกับแบบแผนเดิม รู้จักพิจารณาเหตุการณ์ นำข้อผิดพลาดที่ผ่านมาแล้วเป็นบทเรียน และหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านลุล่วงไปได้

4. ทักษะการจดจ่อใส่ใจ (Focus / Attention)
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เวลาเล่นบอร์ดเกม เด็ก ๆ จึงมักมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเกม ซึ่งทักษะเหล่านี้เมื่อได้รับการฝึกฝนเป็นประจำ ก็จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ หรือทำงานต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี โดยไม่วอกแวกต่อสิ่งเร้ารบกวนทั้งภายในและภายนอก

5. ทักษะการควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)
เมื่อการเล่นเกมไม่เป็นไปอย่างที่คิด มีแพ้ มีชนะ มีผิดพลาด หรืออาจมีกระทบกระทั่งไม่พอใจผู้เล่นอีกฝ่าย ส่งผลให้เด็ก ๆ พบเจออารมณ์ตัวเองในด้านต่าง ๆ ทั้งดีใจ ผิดหวัง เสียใจ โกรธ ไม่พอใจ และเมื่อเป็นเช่นนั้น เด็ก ๆ ก็จะต้องเรียนรู้การหาวิธีการเพื่อจัดการอารมณ์ตัวเอง รู้จักให้อภัยตัวเอง และผู้อื่น รวมถึงการแสดงพฤติกรรมการแก้ปัญหาออกมาได้อย่างเหมาะสม แทนที่จะอาละวาด โวยวาย หรือทะเลาะจนหมดความสนุก และสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ๆ ได้ 

6. ทักษะการติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring)
ในทุกครั้งที่ตัดสินใจว่าจะใช้แผนการเล่นแบบนั้นแบบนี้ เด็ก ๆ ก็จะลุ้นต่อว่าวิธีการหรือแผนที่เลือกใช้นั้น ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร หากเป็นไปด้วยดีก็จะได้นำมาปรับใช้ในครั้งต่อไป แต่หากผิดพลาดก็ต้องคิดหาหนทางใหม่เพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จัดเป็นทักษะที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้การตรวจสอบความรู้สึก ความคิด และการกระทำของตัวเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ดีที่วางไว้ และแก้ไขได้ทันการกรณีเกิดข้อผิดพลาด ทั้งนี้การได้ประเมินความสามารถของตัวเอง ยังช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ข้อดี ข้อด้อย และความต้องการของตัวเองได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

7. ทักษะการริเริ่มและลงมือทำ (Initiating)
การตัดสินใจว่าจะเดินเกมไปทางไหน หรือจะใช้แผนการอย่างไรบนกระดานเกมนี้ ถือเป็นการฝึกความกล้าของเด็ก ๆ อย่างหนึ่ง ซึ่งทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ส่งผลให้เด็ก กล้าคิด กล้าตัดสินใจ กล้าลองผิดลองถูก และกล้าที่จะลงมือทำในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น

8. ทักษะการวางแผนจัดระบบ ดำเนินการ (Planning & Organizing)
เมื่อกระดานเกมถูกกางออกมา เด็ก ๆ ก็จะได้เรียนรู้กติกา มองเห็นภาพรวมของการเล่น ทำให้สมองเกิดการคาดเดา คิดวางแผนอย่างเป็นระบบว่าจะเล่นเกมให้ผ่านไปได้อย่างไรตั้งแต่เริ่มจนจบ รวมถึงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อพิชิตภารกิจให้ผ่านพ้นมาได้ ซึ่งการที่เด็ก ๆ ได้ฝึกการวางแผน การจัดระบบดำเนินการ จะทำให้เขาสามารถนำทักษะเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตได้ เช่น การดูแลกิจวัตรประจำวันของตัวเอง การวางแผนการเรียน และทำงาน การจัดลำดับความสำคัญในการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

9. ทักษะการมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)
เล่นเกมก็ต้องหวังผล ซึ่งบอร์ดเกมแต่ละแบบก็มีจุดมุ่งหมายปลายทางที่แตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือ การที่ผู้เล่นได้แก้ปัญหา และประสบความสำเร็จในการทำภารกิจตามรูปแบบของแต่ละบอร์ดเกม ซึ่งทักษะเหล่านี้ จะทำให้เด็ก ๆ เกิดความมุ่งมั่น อดทน ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย 
 
จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า บอร์ดเกมสามารถช่วยพัฒนาทักษะ EF ได้ครบทั้ง 9 ด้านนั้น ไม่ได้หมายความว่า เด็ก ๆ เล่นแล้วจะเห็นผลในทันที แต่จะเป็นการสะสมประสบการณ์จากการเล่น แล้วนำสิ่งที่เรียนรู้ ทักษะที่ได้มาปรับใช้กับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากกว่า ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกบอร์ดเกมให้เหมาะสมกับช่วงวัยของลูก และค่อย ๆ เพิ่มระดับความยากของเกมให้มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ลูกรู้สึกสนุก ท้าทาย ฝึกแก้ปัญหา พัฒนากระบวนการคิด และเพิ่มพูนทักษะ EF ด้านต่าง ๆ ได้ดี 
 
สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ไม่กดดันกับการเล่น แต่ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า บอร์ดเกม คือการเล่นสนุกของลูก ทักษะต่าง ๆ คือกำไรที่ลูกได้จากการเรียนรู้ผ่านการเล่น ดังนั้น อย่าทำให้การเล่นของลูกเป็นการฝึกแบบถูกบังคับ เพราะนอกจาก EF จะไม่เกิดแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคุณลูก และคุณพ่อคุณแม่ก็จะติดลบไปด้วยเช่นกัน
 
 
สินค้าแนะนำ