ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

รับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยร้องอาละวาด

วันที่ : 22/12/2021
remove_red_eye อ่านแล้ว : 3,347 คน
share แชร์
♦ รับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยร้องอาละวาด ♦ 
 
เวลาอารมณ์ดี ลูกน้อยก็แฮปปี้จนน่าใจหาย แต่บทจะงอแง อาละวาด โวยวาย ในหลาย ๆ ครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็รับมือไม่ถูกกันเลยทีเดียว ก่อนจะไปถึงการแนะนำวิธีรับมือเมื่อลูกร้องอาละวาด เรามาค้นหาสาเหตุก่อนว่า มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้ลูกมีพฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้น
 
⇒ สาเหตุที่ลูกร้องอาละวาด
    1.  หิว เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่สบาย ส่งผลให้ลูกหงุดหงิดจึงแสดงออกด้วยการร้องอาละวาด เนื่องจากยังเป็นเด็กเล็กจึงมีความอดทนจำกัด
    2.  ต้องการเรียกร้องความสนใจ อาจเพราะเคยแสดงพฤติกรรมแบบนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจ ตามใจ เด็กจึงเรียนรู้ว่าถ้าทำแบบนี้แล้วได้ผล 
    3.  จัดการอารมณ์ความรู้สึกไม่เป็น เพราะเด็กเล็กยังไม่สามารถสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ว่าต้องการอะไร หรือรู้สึกอย่างไร จึงมีความคับข้องใจ อีกทั้งยังไม่รู้วิธีจัดการอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง จึงแสดงออกโดยการร้องอาละวาด
    4.  ถูกตามใจมากเกินไป การที่คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองลูกทุกอย่างแบบไม่มีขอบเขต ไม่ว่าสิ่งนั้นลูกจะเรียกร้องหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ลูกจึงแสดงออกด้วยพฤติกรรมเช่นนี้
 
⇒ วิธีรับมือเมื่อลูกร้องอาละวาด
    1.  ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ไม่ตามใจลูกทันที แต่ต้องบอกให้เขารู้ว่า ถ้าสงบเมื่อไร คุณพ่อคุณแม่ถึงจะพูดกับเขา เช่น "แม่รู้ว่าหนูโกรธ หนูนั่งพักก่อน เมื่อหนูหยุดร้องไห้แล้ว แม่จะคุยด้วย" เมื่อลูกสงบแล้วจึงค่อยเข้าไปพูดคุย แต่ไม่โอ๋ลูก
    2.  การที่ลูกร้อง อาละวาด อาจมีการดิ้น หรือขว้างปา ทำลายข้าวของ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบพาลูกไปอยู่ในที่ปลอดภัย และเก็บสิ่งของที่เป็นอันตรายให้พ้นมือลูก
    3.  หากลูกทุบตีทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ขว้างปา ทำลายข้าวของ คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการทันทีด้วยท่าทีที่สงบ ด้วยการกอด หรือจับแขนขาไว้ โดยไม่พูดหรืออธิบายมาก สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าจับแรง และไม่ใช้การจับตัวเพื่อเป็นการลงโทษ แต่ควรบอกลูกให้เข้าใจว่า พ่อแม่ยอมรับอารมณ์เขา แต่ไม่ยอมให้ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายตัวเองและผู้อื่น เช่น "หนูโกรธได้ หนูร้องไห้ได้ แต่หนูตีคนอื่นไม่ได้" ท่าทีที่มั่นคง น้ำเสียงและสัมผัสที่นุ่มนวล จะช่วยให้ลูกสงบได้เร็วขึ้น
    4.  เมื่อลูกสงบ คุณพ่อคุณแม่จึงเข้าไปพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกอาละวาด และแนะนำวิธีที่จะแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น "ถ้าหนูอยากกินขนม ให้บอกแม่ แต่ไม่ร้องอาละวาดแบบนี้"
 
⇒ วิธีแก้ไขไม่ให้ลูกร้องอาละวาด
    • ตั้งกฎกติกาหรือระเบียบต่าง ๆ ให้เหมาะกับวัยของลูก ไม่คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป 
    • ให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความคุ้นชิน
    • สอนให้ลูกรู้จักพูดบอกความรู้สึก หรือความต้องการของตัวเอง เช่น "หนูโกรธแล้วนะ"
    • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ลูกหงุดหงิด หรือคับข้องใจ 
    • ไม่พูดปฏิเสธลูกบ่อย ๆ แต่ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ถ้าลูกไม่ยอมเลิกดูทีวี ควรปิดทีวี แล้วชวนลูกออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านด้วยกัน
    • หากจะให้ลูกหยุดหรือเปลี่ยนกิจกรรมใด ๆ ควรพูดตกลงและบอกล่วงหน้าเพื่อให้ลูกได้เตรียมใจ และควรมีทางเลือกให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเองบ้าง เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าถูกบังคับมากเกินไป เพราะอาจทำให้มีอาการต่อต้านได้
    • ฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ รอคอยเป็น และค่อย ๆ ทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจ และคำชมเมื่อลูกทำได้แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
    • พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงออกและจัดการอารมณ์ รวมถึงมีแนวทางในการเลี้ยงดูลูกให้ไปในทิศทางเดียวกัน
    • ใช้สื่ออย่างนิทานในการยกตัวอย่างให้ลูกเห็นผลของการกระทำ และวิธีจัดการกับอารมณ์ ลูกจะได้เข้าใจได้มากขึ้น
 
 
แหล่งข้อมูล - คู่มือสำหรับพ่อแม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี
 

สินค้าแนะนำ