ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

ระวัง !! ขับถ่ายมีปัญหา พัฒนาการชะงักได้

วันที่ : 14/09/2021
remove_red_eye อ่านแล้ว : 18,968 คน
share แชร์
♦ ระวัง !! ขับถ่ายมีปัญหา พัฒนาการชะงักได้ ♦
 
เด็กแต่ละคนมีความพร้อมในการฝึกขับถ่ายไม่เหมือนกัน บางคนอาจเริ่มฝึกได้ตั้งแต่อายุ 1.5 ปี ในขณะที่บางคนอาจเริ่มเมื่ออายุ 3 ปี นิสัยการขับถ่ายที่เหมาะสมนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพลูกน้อยแล้ว ยังส่งผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ ของลูกอีกด้วย 
 
 
⇔ การขับถ่ายมีผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของลูกอย่างไร ⇔

การฝึกให้ลูกมีนิสัยการขับถ่ายที่ดีจะส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการทางกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัย โดยเฉพาะเมื่อต้องไปโรงเรียน เด็กที่สามารถดูแลตัวเองได้ทั้งในเรื่องการขับถ่าย และการดูแลความสะอาด ก็จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น ไม่กระทบต่อการเรียนรู้ หรือความสัมพันธ์กับเพื่อนที่โรงเรียน
 

ขณะเดียวกัน หากลูกมีนิสัยการขับถ่ายที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดผลกระทบ เช่น 
 

♦ เมื่อลูกอุจจาระ ปัสสาวะเล็ดราด จนทำให้กางเกงอับชื้น อาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณที่อับชื้นอ่อนแอ เป็นรอยถลอกและติดเชื้อได้ง่าย
 
♦ การกลั้นปัสสาวะอาจทำให้ลูกเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ได้ตามปกติ มีผลกระทบต่อไต เกิดความเสียหายอย่างถาวร
 
♦ การไม่ถ่ายอุจจาระเป็นประจำจะทำให้อุจจาระแข็ง ส่งผลให้ลูกเจ็บทวารหนักเวลาถ่าย อาจทำให้เกิดแผล ฝี ริดสีดวงทวาร หรือทำให้ท้องอืดไม่อยากอาหาร จนทำให้การเจริญเติบโตช้ากว่าที่ควร
 
♦ เมื่อลูกต้องไปโรงเรียนอาจมีปัญหาในการดูแลความสะอาดเมื่อเกิดการขับถ่ายเล็ดราด จนกระทบต่อการทำกิจกรรมและความสัมพันธ์กับเพื่อนที่โรงเรียนได้
 
 
[ เทคนิคฝึกลูกน้อยขับถ่าย ]
 

1. สอนให้ลูกรู้จักบอกเมื่อจะขับถ่าย และสอนให้รู้จักขับถ่ายในที่ที่เหมาะสม 
เช่น เมื่อสงสัยว่าลูกจะขับถ่าย ให้คุณพ่อคุณแม่ถามลูกว่า "ฉี่ไหม" "อึไหม" แล้วจึงพาไปที่กระโถนหรือห้องน้ำ เมื่อลูกถ่ายออกมา ไม่ว่าจะรดกางเกง หรือถ่ายลงกระโถน ก็ให้บอกลูกว่า "ฉี่เหรอ" "อึเหรอ" แล้วพาเข้าห้องน้ำไปล้างทำความสะอาด พร้อมทิ้งสิ่งขับถ่ายลงในโถส้วมให้ลูกได้เห็น
 
นอกจากนี้ การใช้สื่อที่มีรูปภาพ หรือหนังสือนิทานที่มีรูปห้องน้ำ กระโถน โถส้วม หรือเรื่องราวเกี่ยวกับการขับถ่าย ก็ช่วยให้ลูกได้คุ้นเคยและเห็นภาพของการฝึกขับถ่ายได้เช่นกัน
 
 
2. ฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการนั่งกระโถน หรือชักโครก
เริ่มจากให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกกระโถน หรือชักโครก ให้ลองนั่งบ่อย ๆ โดยในช่วงแรกอาจนั่งทั้งที่ลูกยังสวมผ้าอ้อมไว้ พร้อมหากิจกรรมให้ลูกทำระหว่างนั่งกระโถน หรือชักโครก เช่น อ่านนิทานให้ฟัง หรือเล่นของเล่น โดยให้นั่งไม่เกิน 2-3 นาทีในแต่ละรอบ ควรชวนให้ลูกนั่งกระโถนหรือชักโครก ทุก 2-3 ชั่วโมง หลังกินนมหรือน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะ และช่วงเช้าทุกวันหลังตื่นนอนหรือหลังมื้ออาหารเพื่อถ่ายอุจจาระ 
 
 
3. เลือกกางเกงให้เหมาะสม
คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกซื้อกางเกงให้ลูกในแบบที่ใส่สบาย ไม่รัดรูป ลูกสามารถดึงขึ้นลงได้ง่ายด้วยตัวเอง
 
 
4. หมั่นให้ลูกดื่มน้ำเปล่าและกินอาหารที่มีกากใยให้เพียงพอ 
เพื่อช่วยกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะ อุจจาระ และทำให้อุจจาระนุ่ม ถ่ายออกง่าย และไม่ควรดื่มนมมากเกินไป เนื่องจากนมมีปริมาณไขมันมากทำให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ช้าลง ส่งผลให้การฝึกขับถ่ายอุจจาระยากขึ้น โดยทั่วไปเด็กอายุ 1-2 ปี ไม่ควรดื่มนมเกิน 32 ออนซ์ ต่อวัน
 
 
 
♦♦♦♦♦♦♦
 
 
Tips/Tricks
► คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะถ่ายออกทุกครั้งที่หัดนั่งกระโถน และไม่ควรตำหนิหรือหงุดหงิดเมื่อลูกไม่ถ่ายหรือถ่ายรดกางเกง 
► ควรชมเชยทุกครั้งเมื่อลูกขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง หรืออาจให้รางวัลด้วยการติดสติ๊กเกอร์รอบกระโถนเมื่อลูกนั่งที่กระโถน แม้ว่าลูกจะไม่ได้ขับถ่ายออกมาก็ตาม 
► เมื่อฝึกไปได้สักระยะแล้ว คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกยังไม่พร้อม ให้หยุดการฝึก และอาจเริ่มฝึกใหม่ใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา
 
 
ข้อมูลอ้างอิง : บทความสุขภาพ “การฝึกขับถ่ายของลูกน้อย”, สาขาวิชาโรคไต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 

สินค้าแนะนำ