ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

เทคนิคเตรียมอ่านตามวัย

วันที่ : 21/05/2020
remove_red_eye อ่านแล้ว : 7,470 คน
share แชร์

เทคนิคเตรียมอ่าน...ตามวัย                  

วัยทารก การพูดคุยสนทนาเป็นประจำ จะสอนให้ลูกเริ่มรับรู้ความแตกต่างของหน่วยเสียงที่มีอยู่ในทุกภาษา คุ้นเคยกับภาษา แยกแยะความแตกต่างของเสียง การโอบกอดลูก ให้ลูกนั่งตักเล่านิทานให้ลูกฟัง จึงเป็นสัมผัสของความรักและเรียนรู้อย่างเป็นสุข

 

วัยเตาะแตะ เล่านิทานที่มีคำคล้องจอง เล่นคำ พ่อแม่อุ้มลูกนั่งตักอ่านหนังสือให้เขาฟังโดยใช้มือชี้ไล่ไปตามตัวหนังสือ ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเสียงที่เขาได้ยินมาจากตัวหนังสือที่เขาได้เห็น เมื่อได้ยินได้เห็นบ่อยๆเขาก็จะจำได้และสามารถไล่มือไปตามตัวอักษรตามเสียงที่ได้ยินได้ แม้จะยังอ่านหนังสือไม่ออกก็ตาม เด็กจะให้ความสนใจเสียงที่เด็กไม่สามารถพูดได้ เด็กจะชี้และพยายามออกเสียงตามตัวอักษรเมื่อเด็กอ่านหนังสือ

 

วัยก่อนเรียน เด็กวัยนี้มักจะชอบฟังเพลง พ่อแม่ควรหาเพลงที่มีคำคล้องจองหรือร้องเพลงที่มีการสัมผัสของคำ สอนการท่องคำกลอนพร้อมจังหวะ  เริ่มสอนให้รู้จักชื่อของตนเพื่อให้คุ้นเคย เกิดการจดจำตัวอักษร การเล่นทายคำช่วยในการจดจำคำ

 

วัยอนุบาล เมื่อถึงวัยที่เด็กรู้จักตัวหนังสือตัวอักษร เขาก็จะจดจำตัวอักษรจากเรื่องที่อ่านได้ง่ายขึ้น เด็กจะดูหนังสือเรื่องที่ชอบ พูดข้อความในหนังสือด้วยภาษาของตนทำท่าทางเหมือนอ่านหนังสือ

 

ตัวอย่างอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้พัฒนาทักษะด้านการอ่านเบื้องต้น

สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเราพ่อแม่สามารถนำมาสร้างเป็นสื่ออุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นและพัฒนาความสามารถในการอ่านได้

หนังสือภาพ หนังสือภาพที่ลูกชอบ ชวนลูกเล่าเรื่องจากภาพหรืออ่านเรื่องให้ฟัง ถึงแม้ลูกจะยังไม่สามารถอ่านได้แต่การที่พ่อแม่อ่านให้ฟังบ่อย ๆ จะทำให้ลูกคุ้นเคยกับคำต่าง ๆ ได้ดี

 

สมุดภาพ เช่น ภาพสัญลักษณ์หรือโลโก้โฆษณาต่าง ๆ ที่ลูกคุ้นเคยหรือเห็นบ่อย ๆ โดยลูกจะรู้ว่าสัญลักษณ์นี้หมายถึงอะไร ถึงแม้จะอ่านไม่ออก  พ่อแม่ควรหานิตยสาร หนังสือพิมพ์ กระดาษ กรรไกร กาว และชวนลูกตัดภาพต่าง ๆที่คุ้นเคยมาแปะเก็บไว้เพื่อทำเป็นหนังสือภาพของตัวเอง

 

บัตรภาพเรียงลำดับเหตุการณ์ หาบัตรภาพแล้วให้ลูกฝึกเรียงลำดับว่าเหตุการณ์ใดเกิดก่อนหลัง และเล่าเรื่องจากภาพที่เรียงนั้น  ในบางครั้งลูกอาจจะเรียงลำดับต่างไปจากที่พ่อแม่คิดก็ได้ สิ่งนี้จะช่วยสอนลูกเรื่องลำดับเหตุการณ์ การเริ่มต้น ระหว่างทาง และตอนจบ

 

เล่าเรื่องจากภาพ อาจใช้ภาพถ่ายหรือภาพจากนิตยสารก็ได้ ชวนลูกเล่าเรื่องจากภาพนั้น ๆ ชวนลูกคุยหรือตั้งคำถามว่ามีใครทำอะไรบ้าง เพราะอะไรเขาจึงทำแบบนั้น โดยให้ความมั่นใจกับลูกว่าไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด เพราะเรื่องที่เล่านั้นเกิดจากจินตนาการ

 

บัตรคำ ตัดกระดาษและเขียนชื่อสิ่งของในชีวิตประจำวันที่พบเห็นบ่อย ๆ นำไปติดไว้ตามสิ่งต่าง ๆ ในบ้าน จะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ได้เร็วขึ้น

 

ตัวอักษรแม่เหล็ก  โดยอักษรที่ออกเสียงเหมือนกันควรเป็นสีเดียวกัน  นำอักษรแม่เหล็กมาสอนว่าตัวอักษรแต่ละตัวมีชื่อว่าอะไรและมีลักษณะเหมือนอะไรที่ลูกเคยเห็น ต่อมาจึงเริ่มนำอักษรมาเรียงเป็นคำง่าย ๆ ให้ลูกฝึกอ่าน สิ่งนี้จะช่วยให้เขาเรียนรู้เสียงย่อยของคำได้ด้วย

 

เกมทายเสียง โดยหาอุปกรณ์ ที่มีเสียง เช่น กระดิ่ง กระพรวน แล้วเขย่าให้เกิดเสียง หรือพ่อแม่ทำเสียงเลียนแบบเสียงสัตว์ เพื่อให้ลูกทายว่าเสียงที่ได้ยินคืออะไร

 

สรุป

การอ่านของเด็กปฐมวัยเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องและเริ่มตั้งแต่วัยทารก โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูพูดคุย  ชี้ชวนให้เด็กๆ ดูรูป ภาพในหนังสือ อ่านหนังสือให้ฟัง การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจึงเป็นกระบวนการที่ควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิด  การอ่านหนังสือและเล่านิทานให้เด็กปฐมวัยตั้งแต่ก่อน 3 ขวบฟัง จึงเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนา ทักษะทางภาษา ส่งเสริมทักษะการฟัง กระตุ้นจินตนาการและความคิดรวบยอด เพิ่มพูนประสบการณ์และ เป็นแบบอย่างที่ดีในการเรียนรู้ผ่านการอ่าน ตลอดจนพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู   ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก


ที่มา : สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต