ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

หนังสือแบบไหนที่เหมาะกับวัยของหนู

วันที่ : 11/09/2019
remove_red_eye อ่านแล้ว : 37,468 คน
share แชร์
แรกเกิด – 1 ขวบ
 
   ทารกที่ได้ฟังคนอ่านหนังสือให้ฟัง จะได้รับความสนุกจากการได้ยินเสียงและมีความสุขจากการถูกอุ้มไว้ พ่อแม่ที่เริ่มอ่านหนังสือให้ทารกฟังตั้งแต่เกิด มักอ่านต่อเนื่องจนโต ทำให้เด็กโตขึ้นเป็นคนรักการอ่าน

   การเลือกหนังสือให้ทารก เมื่อทารกอายุ 6 เดือน จะเริ่มสนใจหนังสือสีสดใส โดยเริ่มเอามือแตะที่หนังสือ และส่งเสียงคำราม หรือ จับหนังสือ โบกหนังสือไปมา ฟาดหนังสือ เอาหนังสือเข้าปาก หรือ ส่งเสียงตื่นเต้น
 
   หนังสือที่เหมาะสม คือ หนังสือเล่มแข็งแรงทนทานที่มีรูปภาพสีสดใส หรือ รูปเด็ก หนังสือโคลงกลอน ขณะที่บางคนอาจชอบหนังสือที่คุณอ่าน แต่ควรอ่านออกเสียงสลับกับการหยุดพูดคุยกับทารกบ่อยๆ ช่วงวัยนี้ทารกยังไม่เข้าใจภาษา แต่ชอบฟังเสียงต่างๆ

   เมื่ออายุ 9 เดือน ทารกเริ่มแสดงความต้องการของตัวเอง เช่น อยากกินอาหารเอง อยากถือหนังสือและอ่านเอง หากลูกไม่ยอมให้คุณถือหนังสือ ให้คุณเตรียมหนังสือให้ลูกถือเองเล่มหนึ่ง และคุณถืออีกเล่มหนึ่ง อ่านในช่วงเวลาสั้นๆ หาหนังสือให้ลูกไว้ถือเล่น เปิดเล่น หรือ ใช้ฟาดตามแต่ต้องการ
  
   เล่นหารูปภาพที่ลูกรู้จักจากหนังสือ เช่น รูปสุนัข หากหนังสือเป็นโคลงกลอนหรือเป็นเนื้อเพลง ขณะอ่าน ให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายของคุณและลูกตามไปด้วย หากเป็นรูปเด็ก ให้ชี้ส่วนต่างๆของร่างกายลูกเทียบไปด้วย

   ทารกบางคนฟังได้นาน (มากกว่า 5-10 นาที) แต่เด็กบางคนอาจสนใจเพียงเวลาไม่เกิน 1 นาที เวลาไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ความสุขที่ได้รับ หากลูกหรือคุณเบื่อ ลองเปลี่ยนหนังสือหรือหากิจกรรมทำร่วมกันอย่างอื่น

   ด้วยความที่เด็กวัยนี้ชอบหยิบของทุกอย่างเข้าปาก หนังสือที่ทำจากผ้า กระดาษแข็งๆ อย่างหนังสือบอร์ดบุ๊ค หรือหนังสือที่ทำพลาสติก เช่นหนังสือลอยน้ำ ก็จะเหมาะกับเด็กวัยนี้

หนังสือสำหรับเด็กเด็กเล็ก
 


1-2 ขวบ
 
   เมื่ออายุ 12-15 เดือน ทารกอาจตั้งใจถือหนังสือกลับหัว ช่วง 18 เดือน ทารกอาจเปิดหนังสือจากด้านหลังมาด้านหน้า

   วัยเตาะแตะส่วนใหญ่รักการเคลื่อนไหว ส่วนคนที่ยังเดินไม่ได้ ชอบการโยก การจั๊กจี้ และการกอดขณะที่ฟังพ่อแม่อ่าน ส่วนคนที่เดินได้แล้ว อาจนั่งฟังได้นานเพียง 2-3 นาที แต่ยังชอบที่จะฟังไปเดินเล่นไปด้วย เด็กวัยนี้ชอบถือหนังสือเดินไปมาและนำมาให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง

   เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้ง ควรวางหนังสือไว้ในตำแหน่งที่ลูกหยิบออกมาและเก็บเข้าที่ได้เอง ควรวางหนังสือให้ลูกเลือกครั้งละ 3-4 เล่มเท่านั้น เพราะหนังสือยิ่งมาก ยิ่งเลือกยากและคุณต้องเสียเวลาเก็บจากพื้นห้อง ให้เข้าที่เก็บหนังสือนานมากขึ้น

   เมื่ออายุ 18 เดือน เด็กเดินได้คล่องแล้ว กิจกรรมที่ชื่นชอบ คือ การถือหนังสือเดินไปทั่วๆ และลูกเริ่มเรียนรู้แล้วว่า หนังสือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ได้ โดยการเลือกหนังสือแล้วเดินไปนั่งที่ตักพ่อแม่ แล้วพูดว่า “อ่านให้ฟังหน่อย”

   เมื่ออายุ 2 ขวบ ลูกเริ่มเข้าใจภาษามากขึ้น หนังสือช่วยให้รู้จักสิ่งต่างๆ พ่อแม่ชี้รูปภาพในหนังสือและถามลูกว่าเป็นรูปอะไร รอคำตอบ แล้วค่อยเฉลย หรือชมเชย หากลูกตอบได้ถูกต้อง หรือหากลูกตอบผิด ให้สอนคำตอบที่ถูกต้อง

   อะไรที่ทำให้การสอนแบบถามตอบได้ผล คือ การทำซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเด็กเล็กๆ การทำซ้ำๆ จะช่วยในการเรียนรู้ เมื่อลูกรู้จักศัพท์ใหม่ๆ เขาจะเริ่มใช้คำศัพท์ทำเป็นประโยคได้ และรู้จักว่าทำอย่างไร ประโยคจึงกลายเป็นเรื่องราวได้

   เด็กเล็กและทารกไม่รู้จักรักษาหนังสือ ชอบฉีก หรือทำหนังสือขาด หรือ ขีดเขียนบนหนังสือ วิธีแก้ไข คือ การตักเตือนอย่างนุ่มนวล ไม่ดุด่า เพราะจะทำให้ลูกไม่ชอบหนังสือ หากระดาษอื่นมาทดแทนความต้องการฉีกหรือเขียนบนหนังสือ

   รูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่าง เด็กบางคนชอบมองดูรูปภาพ พ่อแม่จึงควรเลือกหนังสือที่มีรูปภาพ หรือ ปริศนารูปภาพให้เด็กดู บางคนชอบฟัง จึงควรเลือกหนังสือโคลงกลอน หรือ คำคล้องจอง จะช่วยให้เด็กจำได้ ทำให้สนุกกับการอ่านมากขึ้น บางคนชอบการจับสัมผัส หรือชอบเคลื่อนไหวร่างกายไปด้วยขณะอ่านหนังสือ เช่น การทำท่าพายเรือ ขี่ม้า หรือ ทำท่าคนซุป ประกอบไปตามเนื้อเรื่องที่อ่าน

   เนื่องจากเด็กวัยนี้จดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากขึ้น หนังสือประเภทบทกลอน คำคล้องจองจะเหมาะสำหรับเด็กวัยนี้ อีกทั้งโปรดปรานสัตว์ทุกชนิด จึงควรหาหนังสือที่มีภาพสัตว์หรือภาพคน มีอักษรตัวโต ๆ มาอ่านให้ฟัง ควรเป็นหนังสือบอร์ดบุ๊คที่ทำจากกระดาษแข็ง ทนทาน เพราะเปิดง่าย ควรปล่อยให้ลูกได้สำรวจหนังสือ และพลิกหน้ากระดาษเอง โดยพ่อแม่แสดงวิธีเปิดหน้าหนังสือที่ถูกต้องให้ดูก่อน ไม่ช้าเจ้าตัวเล็กจะคว้าหนังสือมาพลิกดูซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือไม่ก็ทำท่าอ่านหนังสือให้ตุ๊กตาตัวโปรดฟัง
 

2-3 ขวบ
 
   ช่วงวัย 2-3 ขวบ ลูกสามารถใช้ภาษาสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างเข้าใจและดีมากขึ้น พูดเป็นประโยคสั้นๆ ได้แล้ว และมีความเป็นตัวของตัวเองมาก ต้องการทำทุกอย่างด้วยตนเอง เช่น กินข้าวเอง แต่งตัวเอง เลือกเสื้อผ้าเอง
  
   วัยนี้เป็นวัยที่เด็กๆ กำลังเข้าเตรียมอนุบาล เป็นวัยที่มีการปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของวินัยและการช่วยเหลือตัวเอง ควรหาหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสิ่งรอบตัวและกิจวัตรประจำวันง่าย ๆ ที่ลูกสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น การแต่งตัว การแปรงฟัน และการเข้าห้องน้ำ การมีวินัย การทำดี ส่งเสริม IQ, EQ, MQ เช่น บึ้กซ่าขี้โมโห กุ๋งกิ๋งปวดฟัน หนูไม่เคยลืม ฯลฯ มาอ่านกับลูกๆ เพราะการสอนที่ให้เด็กได้เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม แถมยังสนุกแบบนี้ จะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าการถูกตักเตือนหรือถูกอบรมสั่งสอนเวลาที่ตัวเขาเองทำผิดเป็นไหนๆ

4-6 ขวบ

   วัยนี้มีจินตนาการเลิศล้ำ เชื่อว่ามีเวทมนตร์วิเศษ เชื่อว่าความสุขทำให้พระอาทิตย์ส่องแสง หรือ ซานตาคลอสมีจริง ดังนั้นเด็กวัยนี้จึงชอบการอ่านนิทาน วิธีสนุกกับการอ่านหนังสือให้ลูกวัยนี้ ทำได้โดย
   - มีหนังสือไว้ในทุกที่ในบ้าน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องกินข้าว ห้องนอน
   - จัดเวลาก่อนนอนหรือตอนเช้าหลังตื่นนอน เป็นเวลาอ่านหนังสือด้วยกัน
   - หยุดอ่าน เมื่อคุณหรือลูกอยากหยุด (ลูกหลับหรือไม่ตั้งใจฟัง)
   - จำกัดเวลาการดูโทรทัศน์ เพราะการดูโทรทัศน์ทำลายจินตนาการของเด็ก และทำให้ไม่มีเวลาเหลือสำหรับการอ่านหนังสือ
   - พาลูกไปห้องสมุด แทนที่จะพาไปเดินห้างสรรพสินค้า
   - ให้ลูกมีส่วนร่วมในการอ่าน เช่น ถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อเรื่องหรือตัวละคร
   - ลองให้ลูกช่วยคุณแต่งนิทานและอ่านด้วยกัน
  
   ช่วงวัยนี้เป็นช่วงเวลาที่โลกใบเล็กของลูกขยายกว้างจากรั้วบ้านออกไปสู่สังคมภายนอ นอกจากการส่งเสริมประสบการณ์ในบ้าน ที่พ่อแม่สามารถใช้กิจวัตรประจำวันเป็นช่องทางในการสอนอย่างเป็นธรรมชาติแล้ว พ่อแม่ยังต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกมีทักษะในการช่วยเหลือตนเองมากขึ้น เพื่อจะใช้ชีวิตในสังคมโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

หนังสือนิทานสำหรับเด็กโต
 


6 ขวบขึ้นไป

   วัยนี้ก็คือเด็กวัยประถมนั่นเอง เด็กวัยนี้เริ่มอ่านหนังสือได้เองแล้ว และมีช่วงความสนใจนานขึ้น ดังนั้น หนังสือที่เด็กๆ ในวัยนี้จะเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ หนังสือที่เกี่ยวกับความรู้รอบตัวนั่นเอง เช่น ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โลกใต้ทะเล อวกาศ ฯลฯ

   การอ่านออกเสียงให้ลูกฟังยังทำได้ในเด็กวัยนี้ เพราะเป็นการช่วยให้คุณและลูกได้มีเวลาที่มีความสุขด้วยกัน ทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ลดความตึงเครียดจากความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อลูกโตขึ้น

   การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ยังช่วยให้ลูกสนใจอ่านหนังสือที่ยากเกินความสามารถของเขา จนกว่าจะถึงวัยที่เขาเริ่มอ่านได้ด้วยตัวเอง และยิ่งช่วยมากขึ้น หากลูกเป็นเด็กที่มีปัญหาในการอ่าน เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถในการอ่านเอง ช้าเร็วไม่เท่ากัน บางคนอ่านได้ดีตั้งแต่ประถมหนึ่ง แต่บางคนอาจช้าไปอีกสองปี แม้จะมีความฉลาดเท่ากันก็ตาม เด็กที่อ่านได้ช้ากว่า หากมีพ่อแม่คอยอ่านหนังสือให้ฟัง อาจช่วยให้เขารักและมีความสุขกับการอ่าน

     การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ยังช่วยพัฒนาความสามารถในการฟัง ควรอ่านและหยุดเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อเรื่องให้ลูกเข้าใจ เป็นภาษาที่ลูกเข้าใจได้ง่าย และมีการตั้งคำถามเพื่อให้ลูกตอบ และให้ลูกลองคาดเดาเนื้อเรื่องตอนต่อไป

   นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ เช่น ความไม่ยุติธรรม มหัศจรรย์ ความถ่อมตัว ทำให้ลูกรู้จักใช้คำใหม่ๆในการพูดคุย

ข้อมูล :รูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในเด็กอายุ 1-3 ปี โดยพ่อแม่ และผู้เลี้ยงดูเด็ก โดย สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ