ตะกร้าสินค้า
cancel

My Cart

ยอดรวม

0.00 บาท

มารู้จักสมองสองซีกของลูกรักกันเถอะ

วันที่ : 13/11/2019
remove_red_eye อ่านแล้ว : 8,695 คน
share แชร์

สมองเป็นจุดเชื่อมโยงของทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากเชื่อมโยงกับทุกอวัยวะในร่างกายแล้ว ยังเชื่อมโยงระหว่างลูกกับพ่อแม่ สังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ถ้าเข้าใจสมอง ก็จะเข้าใจความเป็นไปของมนุษย์และโลก ที่สำคัญเราสามารถสร้างความสุขได้จากความเข้าใจสมอง

จากคำนิยมของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ที่เขียนลงในหนังสือ “สมองอ่าน อ่านสมอง” โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ เพื่อความรู้ความเข้าใจในความมหัศจรรย์ของสมอง วันนี้เรามาศึกษากันว่าสมองแต่ละซีกมีลักษณะเด่นอย่างไรบ้าง


สมองซีกซ้าย
♦  เปลี่ยนข้อมูลของสิ่งรอบตัวที่รับรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 6 มาเป็นภาษา
♦  ขจัดข้อมูลเก่าๆ ที่ไม่จำเป็นออกไปจากสมอง เพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการรับข้อมูลใหม่ๆ
♦  จดจำได้ดีหากได้ลงมือขีดเขียน หรืออ่านข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษร
♦  คิดตามลำดับตรรกะ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน
♦  บางคนมีปัญหาพูดจาไม่ปะติดปะต่อและตะกุกตะกัก แม้จะมีภาพที่ชัดเจนอยู่ในสมอง และรู้ว่าต้องการสื่อสารอะไร นี่คือปัญหาการพัฒนาความสามารถของสมองซีกซ้ายในการถ่ายทอดภาพออกมาเป็นคำพูด
♦  ช่วยในการคิดหาเหตุผล เช่น เวลาที่เรารู้สึกปวดท้องอย่าหาสาเหตุไม่ได้ สมองเราก็จะสั่งให้เรารีบไปโรงพยาบาล โดยไม่รู้สึกตระหนกตกใจจนเกินกว่าเหตุ เพราะสมองจะสั่งให้เราบอกตัวเองว่า คงเพราะกินอาหารมากเกินไปก็เลยท้องอืด ถ้าได้ยาขับลมซะหน่อย ก็คงอาการดีขึ้น
♦  ช่วยในการคิดวิเคราะห์ เช่น ถ้าเราซื้อราวตากผ้ามาประกอบเองที่บ้าน เราก็ต้องอ่านและทำความเข้าใจวิธีประกอบราวตากผ้าให้เหมือนต้นแบบ ไม่อย่างนั้นราวอาจใช้ไม่ได้
♦  ช่วยในการคิดคำนวณ นักบัญชีใช้สมองซีกซ้ายในการทำบัญชีและคิดคำนวณงบดุล
♦  ใช้ในการจดจำข้อมูลทีละเล็กละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป การรับข้อมูลซ้ำๆ ช้าๆ และต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้าย
♦  ในทางปฏิบัติ สมองซีกซ้ายจะทำงานได้ดีเมื่ออยู่ภายใต้สภาวะกดดันที่พอเหมาะ


สมองซีกขวา
♦  จัดระบบข้อมูลอย่างรวดเร็ว เป็นภาพหรือแผนผัง รับรู้เรื่องเกี่ยวกับดนตรี ประสบการณ์ (ไม่ใช่  ตัวหนังสือ) ความรู้สึก ฯลฯ ซึ่งจะประมวลกันเข้าอย่างซับซ้อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดย  อาศัยความช่วยเหลือจากสมองซีกซ้าย
♦  จัดเก็บข้อมูลทุกชนิดไว้ที่ตัวเรา โดยรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 (ตา หู จมูก ช่องปาก ผิวหนังและความรู้สึกทางใจ) ซึ่งสามารถดึงมาใช้ได้เมื่อถึงคราวจำเป็น
♦  จดจำได้ดีหากบันทึกข้อมูลเป็นภาพหรือแผนที่
♦  ทำให้เกิดลางสังหรณ์ที่เราอธิบายได้ยาก เช่น ขณะขับรถเปิดกระจกรับลมมาใกล้ถึงแยกแห่งหนึ่ง เราก็เริ่มรู้สึกตงิดๆ ว่า อาจมีใครปาอะไรบางอย่างใส่รถ เราจึงรีบปิดกระจก แล้วสักพักก็มีเด็กวิ่งมาปาไข่เน่าใส่รถเราจริงๆ แล้ววิ่งหนีไป
♦  บางคนมีความสามารถในการเล่านิทาน หรือเล่าเรื่องได้ยาวเป็นชั่วโมง แสดงถึงความสามารถของสมองซีกขวาที่ช่วยในการจดจำ คือสามารถจัดระบบความคิดและประสบการณ์ แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้เป็นลำดับ
♦  ศิลปินที่เก่งๆ จะนึกเห็นภาพในสมอง และมักมีจินตนาการกว้างไกล
♦  หลายๆ คนสามารถคิดเลขในใจ บวก ลบ คูณ หาร ตัวเลขได้อย่างง่ายดาย
♦  การมีลางสังหรณ์ และใช้จิตกึ่งสำนึก โดยจะจดจำข้อมูลอย่างรวดเร็ว
♦  ทำงานภายใต้ภาวะอารมณ์ผ่อนคลายได้ดี มีความสามารถในการเรียนภาษาได้หลายภาษา และซึมซับข้อมูลต่างๆ อย่างต่อเนื่องโดยไม่ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว


ถึงแม้สมองซีกซ้ายและซีกขวาจะมีหน้าที่แตกต่าง และทำงานหลากอย่างตรงข้ามกัน แต่เราต้องใช้สมองทั้งสองซีกในการเรียนรู้ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างลุ่มลึกและกว้างขวางมากพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต สมองแตกต่างจากอวัยวะอื่นตรงที่ไม่ได้สมบูรณ์มาแต่เกิด สมองจะทำงานได้ เซลล์สมองจะต้องติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ด้วยการมีประสบการณ์ในชีวิตทีละเล็กละน้อยในแต่ละวัน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่คุณพ่อคุณแม่จะจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ผ่านการอ่านและการเล่นอย่างมีความสุขค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ สมองอ่าน อ่านสมอง โดยสำนักพิมพ์แฮปปี้ แฟมิลี่


หนังสือแนะนำ

 

More Your May Like